ประเด็นร้อน

'ศิริชัย'ไขก๊อกพ้น ปธ.อุทธรณ์

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 21,2017

  - - สำนักข่าว มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 21/07/60 - -

          
แม้การคัดเลือกประมุขตุลาการคนที่ 44 มีความชัดเจนแล้ว หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)ครั้งที่ 14/2560 มีมติเอกฉันท์ผ่านฉลุย 14-0 เสียง เห็นชอบบัญชีเสนอแต่งตั้ง นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา
          
แต่ความเคลื่อนไหวแวดวงศาลยุติธรรมยังไม่จบ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 7 ศาลอุทธรณ์ นายศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ผู้เคยมีอาวุโสสูงสุดและเคยถูกเสนอบัญชีรายชื่อขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา แถลงข่าวลาออกจากราชการ ภายหลังการประชุม ก.ต. ครั้งที่ 15 นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นต่อกรณีการปฏิบัติราชการของนายศิริชัย ในฐานะประธานศาลอุทธรณ์ ที่อนุกรรมการตุลาการ (อ.ก.ต.) กลั่นกรองคุณสมบัติ สรุปรายงานการไม่ผ่านคุณสมบัติเรื่องของการโอนสำนวนคดี ตามที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติเสียงข้างมาก
          
ก่อนจะมีการเซ็นตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอบัญชีรายชื่อ นายศิริชัย เข้าสู่การพิจารณาของ อ.ก.ต. ทั้ง 21คน พิจารณาคุณสมบัติเป็นครั้งแรก แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จากนั้นมีการพิจารณาคุณสมบัตินายศิริชัยรวมทั้งหมด 4 ครั้ง
สุดท้ายที่ประชุม อ.ก.ต. มีมติเป็นเอกฉันต์ 19 ต่อ 1 เสียง ไม่ผ่านคุณสมบัติ
          
ซึ่งตามขั้นตอนสำนักงานศาลยุติธรรม จะต้องรวบรวมมติความเห็นพร้อมรายงานการพิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติในที่ประชุม อ.ก.ต. ส่งไปให้ที่ประชุม ก.ต. ชุดใหญ่พิจารณา
          
จนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เป็นวันประชุม ก.ต. ชุดใหญ่ มีมติไม่ผ่านบัญชีรายชื่อนายศิริชัยตามคาดหมาย โดยก่อนจะมีการพิจารณาของ ก.ต. นั้น มีรายงานว่านายศิริชัยขออนุญาตชี้แจงต่อที่ประชุม ก.ต. เพิ่มเติม แต่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากเห็นว่าได้มีการชี้แจงครบประเด็นในชั้น อ.ก.ต. แล้ว
          
ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่านายศิริชัยจะยื่นฟ้อง อ.ก.ต. และ ก.ต. นั้น เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นายศิริชัยได้แถลงสยบข่าวลือ โดยยอมรับว่ามีความเสียใจอยู่บ้าง แต่ไม่ติดใจ และยอมรับมติ ก.ต. ไม่คิดจะฟ้องกลับ และคิดว่าจะนั่งในตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์จนกว่าจะครบตำแหน่งบริหารต่อไป
          
แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น ในการประชุม ก.ต. วันที่ 11 กรกฎาคม ครั้งที่ 14/2560 มีรายงานว่าหลังจากมีวาระพิจารณาเรื่องเสนอนายชีพขึ้นสู่ตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนที่ 44 แล้ว ในการประชุมครั้งนั้น ที่ประชุมยังได้พูดคุยและมีมติเสนอ เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนายศิริชัย จากเหตุของการปฏิบัติราชการ มีต้นเรื่องมาจากรายงานความเห็นการกลั่นกรองคุณสมบัติโดย อ.ก.ต. และยังมีข่าวว่ามีการเสนอโยกย้ายนายศิริชัย จากตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ อาวุโสถือเป็นรองอันดับหนึ่งจากประธานศาลฎีกา ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา ที่เตรียมจะเปิดขึ้นใหม่อีกด้วย
          
ต่อมาในวันที่ 12 กรกฎาคม มีประกาศราชกิจจานุเบกษา "ประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม" เรื่องกำหนดตำแหน่งและเทียบตำแหน่งข้าราชการตุลาการ เนื้อหา กำหนดให้ตำแหน่ง "ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา" เทียบเท่า "ประธานศาลอุทธรณ์"
โดยให้มีผลวันที่ 11 กรกฎาคม
          
กับกรณีนี้ นายศิริชัยแถลงข่าวรอบที่สอง ระบุทำนองว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกามีเกียรติและศักดิ์ศรีที่ไม่ได้เทียบเท่าตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ ในอดีตเคยมีผู้พิพากษาไม่ได้ขึ้นประธานศาลฎีกาแต่ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม แต่หาก ก.ต. เห็นชอบก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบนั้นไม่เคยกลัว เพราะในชีวิตไม่เคยทำสิ่งที่ไม่ดี และยืนยันว่าไม่คิดลาออก
          
"ผมยังไม่อยากพูดอะไรที่อยู่ในอก แม้จะเจ็บปวดรวดร้าว ผมยังไม่เชื่อว่าจะเป็นแบบนี้หรือ" นายศิริชัยกล่าวด้วยสีหน้าเศร้าและน้ำเสียงสั่นเครือ
          
กระทั่งเมื่อมีรายงานว่าที่ประชุม ก.ต. ครั้งที่ 15/2560 มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีอาวุโสเหมาะสม 3 คน เป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ อ.ก.ต. กลั่นกรองคุณสมบัติสรุปรายงานการไม่ผ่านคุณสมบัติ เรื่องของการโอนสำนวนคดี
          
จนเป็นเหตุให้นายศิริชัย แถลงเป็นครั้งที่ 3
          
8รั้งนี้นายศิริชัยแถลงว่า เป็นครั้งสุดท้ายและเป็นการลาออกคจากชีวิตราชการศาลยุติธรรมมาเกือบ 40 ปี โดยนายศิริชัยกล่าวชี้แจงรายละเอียดที่มีการพิจารณาของ อ.ก.ต. ในประเด็นเรื่องการโอนสำนวน 3 คดี ว่าได้กระทำลงไปตามระเบียบขั้นตอนตามกฎหมาย และการโอนหรือเพิกถอนการโอนสำนวนไม่ได้มีกฎหมายและเกณฑ์ปฏิบัติบังคับไว้ชัดเจนว่าห้ามมีการโอนสำนวนหลายครั้ง และไม่ได้มีการตั้งธงการพิพากษา คดีแล้วให้มีการโอนสำนวนไปยังคณะต่างๆ เพื่อไปตรงกับธงที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน เพราะขั้นตอนที่ว่าประธานศาลอุทธรณ์คนเดียวไม่มีอำนาจที่จะทำได้
          
อีกทั้งยังระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการชี้แจงข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่ในการรับรู้ในเรื่องของพยานเอกสารต่างๆ
          
รวมถึงยังมีการเรียกร้องให้หัวหน้า คสช. ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 เข้ามาปฏิรูปองกรศาลยุติธรรม โดยให้เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในการพิจารณาของ ก.ต. อีกชั้น หรือให้มีการถามมติจากศาลทั่วประเทศในเรื่องดังกล่าวที่เขาได้รับ
          
ในวันต่อมา นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ออกมาโต้หลายประเด็นที่นายศิริชัยแถลง ว่าการโอนสำนวนถูกต้องแล้ว มี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชฝ่ายศาลยุติธรรมเรื่องการเรียกคืนสำนวนการโอนสำนวนคดี 2547 วางแนวไว้ชัดเจนว่าไม่สามารถทำได้มากกว่าหนึ่งครั้ง
          
พร้อมทั้งยืนยันหลักเสรีภาพในการพิจารณาของ ก.ต. ที่ใช้หลักการพิจารณาตามพยานหลักฐาน ปราศจากการเมืองภายในและการแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร เป็นการต่อสู้มายาวนานของศาลยุติธรรมในเรื่องความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร โดยย้ำว่า "ไม่จำเป็นที่ฝ่ายบริหารจะเข้ามาบ้านเรา เราเก็บกวาดได้"
          
โฆษกศาลยุติธรรมยังระบุด้วยว่า สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากกว่าตำแหน่งประธานศาลฎีกา คือ หากสุดท้ายแล้วการพิจารณาวินัยแล้วพบว่านายศิริชัยมีความผิด คือเรื่องจำเลยจะได้รับผลกระทบต่อการโอนสำนวน และเราจะต้องรีบดำเนินการแก้ไขต่อไปอีก อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วไม่ว่าผลสอบข้อเท็จจริงจะออก.มาในรูปแบบไหน ถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของศาลยุติธรรมที่ต้องจารึกไว้อีกครั้ง!!